เกี่ยวกับเรา
เกี่ยวกับเรา
ประวัติโรงพยาบาล
ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลสวนเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ)
โรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต ได้ก่อตั้งสถานพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. 2489 เพื่อเป็นสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลแก่พนักงานยาสูบ โดยขอเก็บเงินจากพนักงาน ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง เพื่อสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในระยะเริ่มแรกประมาณ 4 ปี ที่ทําการสถานพยาบาลได้เช่าบ้านเลขที่ 231 ถนนสาทรใต้ ในภายหลังจึงได้ซื้อไว้เป็น กรรมสิทธิ์ ด้วยงบประมาณของโรงงานยาสูบ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505 โรงงานยาสูบ ซึ่งโอนสังกัดขึ้นกับกระทรวงการคลัง แล้ว ได้ปรับปรุงจากสถานพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นหนึ่งในโรงพยาบาล ที่ทันสมัยในยุคนั้น สมตามเจตนารมณ์ของท่านผู้ริเริ่ม โครงการ คือ ท่านอดีตผู้อํานวยการยาสูบ พลตรีหลวงชํานาญยุทธศิลป์ นับจากนั้นมา โรงงานยาสูบได้ขยายบริการสวัสดิการด้านนี้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในการพัฒนาเทคนิค การรักษาใหม่ๆ มาโดยตลอด
ในปี พ.ศ. 2521 ได้ทําการปรับปรุงฐานรากอาคารรักษาครั้งใหญ่ เนื่องจาก ตอม่อเสาเข็ม ซึ่งทําจากไม้ทรุดตัวไม่เท่ากัน ในการแก้ไขได้ซื้อทั้งบริเวณโถงและอาคาร สองชั้นด้านหน้า สร้างเป็นอาคารหน่วยตรวจโรคนอกชั้นเดียว กับอาคารสามชั้นด้านหน้า ทดแทน แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 เสียค่าใช้จ่าย 1,971,200 บาท หลังการปรับปรุง แล้ว ยังคงมีการทรุดตัวของอาคาร ไม่สามารถแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ประกอบกับ ตัวอาคาร ใช้งานมานานประมาณ 40 ปี หมดสภาพการใช้งานเป็นโรงพยาบาล เนื่องจากการ ปรับปรุงฐานรากทําให้การใช้สอยเนื้อที่ขาดความเหมาะสม และสูญเสียความสง่างาม ทางสถาปัตยกรรม โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ จึงได้เสนอแผนงานขอย้ายโรงพยาบาล ไปอยู่ในบริเวณโรงงานยาสูบ เมื่อปี พ.ศ. 2526 แผนงานผ่านการอนุมัติ แต่ให้ชะลอไว้ ก่อนจนกว่าสถานะทางเศรษฐกิจของโรงงานยาสูบจะดีขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ท่านพลโทปัญญา ขวัญอยู่ อดีตผู้อำนวยการยาสูบ ได้เข้ารับตำแหน่งและตรวจเยี่ยมที่โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ เมื่อได้รับรายงานปัญหา ของทางโรงพยาบาล ได้ให้ความเห็นชอบให้ทางโรงพยาบาลเสนอขอทบทวนแผนงานย้ายๆ จนได้รับอนุมัติหลักการจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยได้รับอนุมัติงบประมาณค่าก่อสร้างอาคาร 340,791,152 บาท และงบ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์อีก 40,000,000 บาท โรงพยาบาลโรงงานยาสูบได้เปิด ดำเนินการ ณ สถานที่ใหม่ซึ่งเป็นสถานที่ปัจจุบัน เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2539
เมื่อปี 2559 คณะกรรมการอำนวยการ รยส. มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 23 ประจำปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลโรงงานยาสูบ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2559 และเพื่อให้การเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลโรงงานยาสูบ มีความสอดคล้องกับการก่อสร้างสวนเบญจกิติ ส่วนที่ 2 โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลโรงงานยาสูบ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้มีหนังสือ ที่ กค 0803.1/4041 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 แจ้งให้โรงงานยาสูบทราบว่า บัดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานชื่อโรงพยาบาลโรงงานยาสูบใหม่ว่า “โรงพยาบาลสวนเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” (หมายถึง โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ ณ สวนเบญจกิติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
สถานที่ทำการอาคารโรงพยาบาลสวนเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา
โรงพยาบาลตั้งอยู่ที่ เลขที่ 184 ถนนพระราม 4 แขวงคลองเตย เขต คลองเตย กรุงเทพมหานคร สถานที่สําคัญที่ใกล้เคียงคือ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาคารทําการของโรงพยาบาลมีอาคารเดียว เป็นอาคารสูง 12 ชั้น พร้อมอาคารส่วนต่อ 1 ชั้น และสวนสุขภาพ อาคารโรงพยาบาลตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางเมตร อาคารส่วนต่อด้านข้างมีพื้นที่ประมาณ 600 ตารางเมตร พื้นที่ใช้งานรวมประมาณ 34,000 ตารางเมตร สวนสุขภาพ มีพื้นที่ประมาณ 9,900 ตารางเมตร
ชั้น 1-3 เป็นส่วนบริการผู้ป่วยนอก โอพีดี) และส่วนงานสนับสนุน
ชั้น 4 เป็นห้องผ่าตัด ห้องคลอด ไอซียู ไตเทียม
ชั้น 5 เป็นหน่วยโภชนาการและร้านอาหาร
ชั้น 6-7 เป็นหอผู้ป่วยใน
ชั้น 8 เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มเปิดดําเนินการเมื่อเดือนกันยายน 2559
ชั้น 9-12 เป็นที่พักแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่
อาคารโรงพยาบาลหันหน้าไปทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสวนป่าเบญจกิติ ที่โรงงานยาสูบทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทิศตะวันออก เป็นอาคารสํานักงานใหญ่โรงงานยาสูบ ทิศตะวันตกเป็นสวนสุขภาพ ใกล้ทางด่วนเฉลิม มหานคร และทิศใต้เป็นสโมสรพนักงานโรงงานยาสูบ สนามฝึกกอล์ฟ สนามแบดมินตัน และสนามเทนนิส รวมถึงประตูทางเข้าด้านถนนพระราม 4